เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 7.จันทกุมารชาดก (544)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[992] คหบดีเหล่านั้นมีบุตรและภรรยามาก
ต่างก็มาพร้อมกัน ณ ที่นั้น
ได้กราบทูลพระราชาว่า “ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์จงไว้จุก1แก่ข้าพระองค์ทั้งหมดเถิด
อีกอย่างหนึ่ง ขอให้ทรงประกาศพวกข้าพระองค์เป็นข้าทาสเถิด”
(พระราชาตรัสว่า)
[993] พวกท่านจงรีบนำช้างทั้งหลายของเรามา
คือ ช้างอภยังกร ช้างนาฬาคีรี
ช้างอัจจุคคตะ ช้างวรุณทันตะ
ช้างเหล่านั้นจักเป็นประโยชน์แก่การบูชายัญ
[994] พวกท่านจงรีบไปนำม้าอัสดรของเรามา
คือ ม้าเกศี ม้าสุรามุขะ ม้าปุณณกะ ม้าวินตกะ
ม้าเหล่านั้นจักเป็นประโยชน์แก่การบูชายัญ
[995] ขอพวกท่านจงรีบไปนำเอาโคอุสภะของเรามา
คือ โคยูถปติ โคอโนชะ โคนิสภะ และโคควัมปติ
จงต้อนโคเหล่านั้นทั้งหมดเข้าเป็นหมู่
เราจักบูชายัญ จักให้ทาน
[996] พวกท่านจงตระเตรียมยัญทุกอย่างไว้
เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น เราจักบูชายัญ
พวกท่านจงบังคับเหล่ากุมารมาว่า
จงรื่นรมย์ตลอดราตรีนี้เถิด

เชิงอรรถ :
1 ไว้จุก หมายถึงทำให้เป็นผู้รับใช้ ทำให้เป็นทาส (ขุ.ชา.อ. 10/992/94)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :337 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 7.จันทกุมารชาดก (544)
[997] พวกท่านจงตั้งยัญทุกอย่างไว้
เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น เราจักบูชายัญ
พวกเจ้าจงไปทูลพระกุมาร ณ บัดนี้
วันนี้แหละเป็นคืนสุดท้าย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[998] พระมารดาเสด็จมาจากพระตำหนัก
ทรงกันแสงพลางตรัสถามพระเจ้าเอกราชนี้นั้นว่า
“ลูกรัก ได้ยินว่า พ่อจักบูชายัญด้วยพระโอรสทั้ง 4 หรือ”
(พระราชากราบทูลว่า)
[999] เมื่อจะต้องฆ่าจันทกุมาร บุตรแม้ทุกคนหม่อมฉันก็สละได้
หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายแล้ว
จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์
(พระราชมารดาตรัสว่า)
[1000] ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเชื่อคำนั้นที่ว่า
“สุคติจะมีได้เพราะใช้บุตรบูชายัญ
เพราะว่า นั้นเป็นทางไปนรก ไม่ใช่ทางไปสวรรค์”
[1001] ลูกโกณฑัญญะเอ๋ย พ่อจงให้ทาน
อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง นี้เป็นทางไปสู่สุคติ
และทางไปสู่สุคติมิใช่เพราะใช้บุตรบูชายัญ
(พระราชากราบทูลว่า)
[1002] คำของอาจารย์ทั้งหลายมีว่า
“หม่อมฉันจักฆ่าทั้งจันทกุมารและสุริยกุมาร
หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายที่สละได้ยากแล้ว
จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :338 }